International Geological Excursion 2016

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 4 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา นิสิตชั้นปีที่ 2 และ 3 เดินทางไปศึกษาธรณีวิทยาภาคสนาม ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยสึคุบะ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเรียนรู้ลักษณะธรณีวิทยาของประเทศญี่ปุ่น วัฒนธรรม และเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างนิสิตธรณีวิทยาของทั้งสองสถาบัน


เรื่อง บุญฑิกานต์ คูหาสรรพสิน
ภาพ จิรวัฏ ดำรงกิจอภิชาต

ประเทศญี่ปุ่นมีลักษณะทางธรณีวิทยาที่แตกต่างจากประเทศไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาะภูเขาไฟที่เกิดจากกระบวนการมุดตัวของเปลือกโลก ทำให้หินที่เกิดขึ้นมีความซับซ้อนและหลากหลาย ดังนั้นในแต่ละจุดศึกษาที่ไปจึงพบหินและลักษณะทางธรณีวิทยาที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมากมาย

ที่ภูเขาสึคุบะเป็นจุดศึกษาที่ทำให้เราเห็นลักษณะของหินแกบโบร หินอัคนีแทรกซอนแบบเมฟิกที่พบได้น้อยมากในประเทศไทย การเข้าชมพิพิธภัณฑ์สึชิอุระทำให้เราเห็นชั้นของเปลือกหอยในตะกอนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเมือง

จุดศึกษาที่หาดเมืองโชชิ เป็นหินในหมวดหินอินุโบซากิ ที่นี่เราได้เรียนรู้ลักษณะโครงสร้างตะกอนที่สำคัญของสภาพแวดล้อมของน้ำทะเลตื้น เช่น hummocky stata, bioturbation, ripple mark, load structure และ liesegang ที่มีความชัดเจนและสวยงาม

ที่ชายหาดทาเทยามะ อยู่ในหมวดหินนิชิซากิ เราได้เห็นชุดหินตะกอนที่เปิดทับหินบริเวณร่องจากการมุดตัวของเปลือกโลก หินที่นี่จะเป็นหินกรวดมนแบบขนาดใหญ่ที่เม็ดตะกอนมาจากภูเขาไฟ ปิดทับหินทรายที่สะสมตัวสลับกันหินโคลน มีการกดทับของตะกอนระหว่างชั้นชัดเจน และเห็นลักษณะของรอยเลื่อนซึ่งอาจเกิดจากการถล่มด้วย

ที่เมืองมินิมิโบโซะ บริเวณอุโมงค์อาวาชิราฮามะ จะเห็นหินโผล่จากการตัดถนน เป็นหินในกลุ่มหินชิกูระ ซึ่งแสดงลักษณะของ ชุดตะกอนที่เกิดบนที่ลาดที่สวยงาม เกิดจากการแตกของตะกอนที่ไม่เสถียร แล้วถล่มลงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เกิดเป็นชิ้นส่วนของการคดโค้งที่ไม่เป็นระเบียบ

ที่คาโมคาวะ เราได้เรียนรู้ชุดหินโอฟิโอไลต์ ที่ประกอบไปด้วยหินบะซอลต์รูปหมอน และหินเชิร์ต ที่เป็นลักษณะสำคัญของหินที่เกิดใต้ทะเลลึก แล้วถูกดันตัวขึ้นมาบนบกจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก

ที่นารุซาวา ทางตอนเหนือของภูเขาไฟฟูจิ เราได้เห็นโพรงที่เกิดจากลาวาเคลื่อนที่ผ่านต้นไม้ใหญ่ เราได้เข้าชม Fuji visitor center ที่มีนิทรรศการเกี่ยวกับภูเราไฟฟูจิ การสำรวจด้านต่างๆและตำนานของภูเขาไฟ นอกจากเรายังได้ไปที่น้ำตก ที่มี หินบะซอลต์รูปเหลี่ยมวางตัวอยู่บนหินตะกอนภูเขาไฟ ซึ่งช่องว่างระหว่างชั้นทำให้น้ำไหลออกมาได้

หมู่บ้านโอชิโนะ ฮัคไค เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใช้ประโยชน์จากน้ำที่ละลายมาจากน้ำแข็งของภูเขาไฟฟูจิ ที่มีความใสและบริสุทธิ์สูง การเข้าชมในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่สวนอุเอโนะ ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของธรณีวิทยาประเทศญี่ปุ่น ตัวอย่างแร่ หิน และซากดึกดำบรรพ์ที่มีความสวยงามและมีความสำคัญ ที่ไม่มีให้เห็นในประเทศไทย

นอกจากลักษณะทางธรณีวิทยาแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมออกภาคสนามในครั้งนี้ ยังทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย เราได้เข้าชมหมู่บ้านมาคาเบะ ได้เห็นสถาปัตยกรรมดั้งเดิมสมัยเอโดะ วิถีชีวิตที่เรียบง่าย และการเตรียมตัวในเทศกาลตุ๊กตาฮินะหรือวันเด็กผู้หญิง เราได้เห็นวัฒนธรรมทางอาหารของคนญี่ปุ่น ที่ใส่ใจกับสุขภาพ และให้ความสำคัญกับทุกมื้ออาหาร ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในที่พัก การรักษาความสะอาด การให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญเรายังได้มิตรภาพดีๆจากทั้งอาจารย์และเพื่อนๆชาวญี่ปุ่น ที่คอยช่วยเหลือทั้งด้านความรู้และการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่นกับเราอีกด้วย

การเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ทำให้ได้ประสบการณ์ดีๆ ทั้งความรู้ทางด้านธรณีวิทยาใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบในประเทศไทย การแลกเปลี่ยนความคิดและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์และสร้างความประทับใจมากมาย