- พ.ศ. 2500 ก่อตั้งหลักสูตรธรณีวิทยา (5 ปี)
- พ.ศ. 2501 เริ่มการเรียนการสอน รุ่นแรก
- พ.ศ. 2502 จัดตั้งภาควิชาธรณีวิทยา อย่างเป็นทางการ
- พ.ศ. 2508 เปลี่ยนเป็นหลักสูตร 4 ปี
- พ.ศ. 2520 เริ่มหลักสูตร ป.โท ธรณีวิทยา
- พ.ศ. 2541 เริ่มหลักสูตร ป.เอก ธรณีวิทยา
- พ.ศ. 2542 เริ่มหลักสูตร ป.โท โลกศาสตร์
ประวัติ
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 มีศาสตราจารย์ ดร. แถบ นีละนิธิ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และรักษาการหัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา(สมัยนั้นเรียกแผนกวิชา) ซึ่งภาควิชาธรณีวิทยานั้นก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ ปี พ.ศ.2500 โดยมี ศ. แถบ นิละนิธิ เป็นผู้ริเริ่มที่จะก่อตั้งหลักสูตรธรณีวิทยาขึ้น โดยความช่วยเหลือจาก อาจารย์วิชา เศรษฐบุตร ทำให้ภาควิชาสามารถเชิญศาสตราจารย์ ดร. Th. H. F. Klompe ชาวฮอลันดา มาเป็นผู้ร่างหลักสูตร ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี (กรมโลหกิจเดิม) และเป็นอาจารย์ประจำวิชาภาควิชาคนแรกของภาควิชาเมื่อปี พ.ศ. 2502
ในช่วงต้นนั้นมีอาจารย์ไสว สุนทโรวาท จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาเป็นอาจารย์สอนในรุ่นแรก เมื่อเดือนมิถุนายน 2501 ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 จึงได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้จัดตั้งเป็นภาควิชาธรณีวิทยาขึ้นในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างเป็นทางการ หลักสูตรที่สร้างขึ้นในครั้งแรกเป็นหลักสูตร 5 ปี จนกระทั่งในปี 2508 ได้เปลี่ยนมาเป็นหลักสูตร 4 ปีทำให้ในปี 2511 มีบัณฑิต 2 รุ่นเรียนจบพร้อมกัน เมื่อนับรุ่นตามปีจบจะทำให้สับสน จึงเปลี่ยนเป็นการนับรุ่นตามปี พ.ศ.ที่เข้า โดยรุ่นที่ 1 ตรงกับปีที่เข้าเรียน พ.ศ. 2501 พอดีเนื่องจากภาควิชาธรณีวิทยามีอาจารย์ประจำอยู่เพียงคนเดียว คือ ศาสตราจารย์ ดร. Klompe ภาควิชาจึงได้เชิญอาจารย์พิเศษจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยสอนด้วย เช่น อาจารย์ไสว สุนทโรวาท จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาจารย์ชุมเจษฎ์ จรัลชวนะเพท ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี ดร.C.Y. Li นักธรณีวิทยาจาก ECAFE ศาสตราจารย์ ม.จ. ประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น
ในปี พ.ศ. 2503 ภาควิชาธรณีวิทยา ได้มีอาจารย์ประจำชาวต่างประเทศมาสอนเพิ่มอีก 1 คน คือ ดร. W.F. Beeser เป็นชาวฮอลันดา ชาติเดียวกับ ศาสตราจารย์ ดร.Klompe นั่นเอง ซึ่ง ดร.Klompe ได้เป็นผู้เชื้อเชิญมาและ ดร.Beeser ได้อยู่สอนต่อหลังจากครบสัญญาจ้าง 4 ปี จนกระทั่งถึงแก่กรรม เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2525 ภาควิชาธรณีได้เติบโตขึ้นหลังจากความช่วยเหลือที่คณะวิทยาศาสตร์ได้รับสัญญาความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่าง จุฬา-เท็กซัส ทำให้ภาควิชาสามารถส่งอาจารย์ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์ และอาจารย์สุภาพ ภู่ประเสริฐ ไปศึกษาต่อขึ้นปริญญาโททางธรณีวิทยาที่ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2504 รวมถึงความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การเรียนอีกด้วย สำหรับตัว ดร.Klompe นั้นเมื่อครบสัญญาจ้างสอนในปี พ.ศ. 2505 ก็ได้เดินทางกลับประเทศฮอลแลนด์ และในช่วงเวลาหลังนี้ได้มีอาจารย์ไทยเข้ามาประจำภาควิชาเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับมีอาจารย์ต่างชาติสอนสลับหมุนเวียนตามลักษณะสัญญาจ้าง จนกระทั่งมีอาจารย์ไทยเป็นผู้ดูแลหลักสูตรทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2520 ภาควิชาธรณีวิทยา เริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอน ในหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต (ปริญญาโท) สาขาวิชาธรณีวิทยาเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2541 ภาควิชาธรณีวิทยาได้มีการพัฒนาอีกขั้นหนึ่ง โดยเปิดหลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต (ปริญญาเอก) ในสาขาวิชาธรณีวิทยา และได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยให้ทำการรับนิสิตได้ในปีถัดไป และปี พ.ศ. 2542 ภาควิชาธรณีวิทยาได้รับการอนุมัติเปิดหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต สาขาวิชาโลกศาสตร์ อีกหนึ่งหลักสูตร
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งภาควิชา
เป็นความประสงค์ของศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ที่ต้องการให้คณะวิทยาศาสตร์มีแผนกวิชา (ภาควิชาในปัจจุบัน) ต่างๆ รวมทั้งธรณีวิทยา เพื่อให้คณะวิทยาศาสตร์มีความสมบูรณ์เหมือนในต่างประเทศ
วิวัฒนาการของภาควิชา
เมื่อเริ่มแรกภาควิชามีอาจารย์ประจำทางธรณีวิทยา อยู่เพียงท่านเดียว คือ ศาสตราจารย์ ดร. Klompe และอาจารย์พิเศษ จากหน่วยงานต่างๆมาช่วยสอน เช่น กรมโลหะกิจ และ ECAFE รองศาสตราจารย์ ไสว สุนทโรวาท ซึ่งขณะนั้นเป็นอาจารย์ที่แผนกวิชา วิศวกรรมเหมืองแร่และธรณีวิทยาเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และได้เปลี่ยนมาเป็นหลักสูตร 4 ปีเมื่อ พ.ศ. 2508
ภาควิชาธรณีวิทยาได้เปิดสอน หลักสูตรบัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโทเมื่อ พ.ศ. 2520 และอีก 20 ปีต่อมา เมื่อมีการพัฒนาการด้วยบุคลากรและเครื่องมือดีขึ้น จึงได้เปิดสอนธรณีวิทยา และระดับปริญญาเอก เมื่อปี พ.ศ. 2541 และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์จากประเทศญี่ปุ่น เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านบรรยากาศ (Atmospheric science) จึงได้เปิดหลักสูตรโลกศาสตร์ (Earth Science) ขึ้นในปี พ.ศ. 2544
ปรัชญา ปณิธาน
ภาควิชาธรณีวิทยา เป็นสถาบันวิชาการที่สร้างองค์ความรู้และบุคลากร ด้านธรณีวิทยาและโลกศาสตร์ โดยมีพันธกิจในด้านการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบัณฑิต บุกเบิกแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและโลกศาสตร์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านกำลังคนและความต้องการด้านวิชาการดังกล่าวเพื่อให้เป็นผู้ชี้นำสังคมได้
วัตถุประสงค์และพันธกิจ
- เสริมสร้างให้บุคลากรให้ดำเนินการตามปณิธานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- พัฒนาและเสริมสร้างนิสิตให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบและเป็นผู้นำสังคมได้
- สร้างบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ และมีทักษะที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม
- ส่งเสริมและพัฒนาความรู้ด้านธรณีวิทยาและโลกศาสตร์
- วิชาการและการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและ เป็นบ่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม