ธรณีวิทยาคืออะไร ?

บทความแนะนำ ผศ.ดร.สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล เล่าเรื่องธรณีวิทยา ย้อนอดีตจากหลักฐานในก้อนหิน เพื่อตามหาขุมทรัพย์ของอนาคต


ธรณีวิทยา (Geology) เป็นสาขาวิชาที่ศึกษาองค์ประกอบ โครงสร้าง เเละกระบวนการตามธรรมชาติของโลกที่เกิดขึ้น ในแต่ละช่วงเวลาทางธรณีกาล โดยศึกษาจากหลักฐานที่ ค้นพบในชั้นหิน และซากดึกดำบรรพ์ ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์

ความรู้ทางธรณีวิทยามีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติ อาทิเช่น การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม เขื่อน โรงไฟฟ้า การสำรวจหาแหล่งปิโตรเลียม แหล่งแร่ การแก้ปัญหา สิ่งแวดล้อม และการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยทางธรรมชาติ เป็นต้น

การศึกษาในภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยา ประกอบด้วย การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิชาเฉพาะทางในสาขาธรณีวิทยา ซึ่งมีทั้งการศึกษาในชั้นเรียน และการสำรวจภาคสนาม


Geology มาจากภาษากรีกว่า Geos ซึ่งแปลว่าโลก และ Logi หรือ Logus ซึ่งหมายถึงวิทยาศาสตร์ ดังนั้น ธรณีวิทยาจึงหมายถึง วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกพิภพ หรือโลกมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมถึงกำเนิดของ โลกมนุษย์ที่รวมถึงดวงดาวต่างๆ และระบบสุริยจักรวาล วัสดุ และรูปร่างลักษณะของโลก ประวัติความเป็นมา และกระบวนการที่กระทำต่อโลกทั้งในอดีต และปัจจุบัน


ทำไมต้องศึกษาธรณีวิทยา?

กระบวนการทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกส่งผลกระทบต่อเราทุกคน ที่อาศัยอยู่บนโลก โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ซึ่งสามารถคร่าชีวิตคน จำนวนมาก และสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลได้

ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ทางธรรมชาติเท่านั้น กิจกรรมของเราแต่ละคนใน แต่ละสังคมก็ส่งผลต่อโลกเช่นกัน การเพิ่มจำนวนของประชากรโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก่อให้เกิดความต้องการในการใช้ ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น

หากเรานำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้โดย ไม่เข้าใจถึงกระบวนการทาง ธรรมชาติของโลกแล้ว ก็จะเกิดปัญหาตามมาในหลายๆ ด้าน และอาจส่งผลกระทบต่อคนรุ่นหลังได้

ดังนั้นความรู้ทางธรณีวิทยาจึงมีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถ ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลกได้ และ สามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน