งานของนักธรณีวิทยา

นักธรณีวิทยา (Geologist) คือ ผู้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และประเมินสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยอาศัยหลักฐานที่ได้จากการสำรวจและการทดลองในห้องปฏิบัติการ

นักธรณีวิทยาจะบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทุกแขนง เพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ประเมินธรณีพิบัติภัย และถ่ายทอดเป็นความรู้ให้กับผู้อื่น งานทางธรณีวิทยามักจะอยู่ในขั้นตอนเริ่มแรกของโครงการหลังจากนั้นจะคอยควบคุม ให้คำแนะนำ และประเมินผลจนงานเสร็จสิ้น


หน้าที่ของนักธรณีวิทยา

นักธรณีวิทยาแต่ละคนจะปฏิบัติหน้าที่แตกต่างกัน ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของงาน ผู้ที่สำเร็จหลักสูตรธรณีวิทยาสามารถปฏิบัติงาน ในตำแหน่งต่างๆ ได้ อาทิเช่น

  • Coal geologists สำรวจและวิเคราะห์ทรัพยากรถ่านหิน ประเมินศักยภาพการทำเหมืองถ่านหิน และการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากถ่านหิน
  • Computing geologists พัฒนาโปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ เช่น ระบบฐานข้อมูล ระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ข้อมูลสถิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พื้นพี่และการวางแผนจัดการ
  • Economic geologists ศึกษาวิเคราะห์และประเมินศักยภาพแหล่งแร่เศรษฐกิจ
  • Engineering geologists วิเคราะห์ข้อมูลทางธรณีวิทยา เพื่อให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐ และเอกชน ในเรื่องของความเหมาะสมของพื้นที่ก่อสร้าง อาทิ เขื่อน ทางหลวง สนามบิน อุโมงค์ และในการสำรวจและผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แหล่งแร่ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับวิศวกร
  • Environmental geologists ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้พื้นพูพื้นที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีค่าเหมือนเดิม
  • Geochemists ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของแร่และหิน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายตัว และคุณภาพของแร่ในเปลือกโลก
  • Geochronologists วิเคราะห์อายุของหิน โดยการศึกษาจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี
  • Geomorphologists ศึกษาภูมิประเทศ และกระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโลก
  • Hydrogeologists ศึกษาปริมาณและคุณภาพของน้ำใต้ดิน ตรวจสอบการปนเปื้อน และพัฒนาน้ำใต้ดินมาใช้
  • Marine geologists ศึกษาสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลและมหาสมุทร ให้เข้าใจถึงวิวัฒนาการของแอ่งในมหาสมุทร เป็นประโยชน์ต่อการสำรวจแหล่งแร่และปิโตรเลียม
  • Mineralogists วิเคราะห์และจำแนกแร่และหิน จากองค์ประกอบทางเคมี และโครงสร้างของแร่ เพื่อนำไปพัฒนาในอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม
  • Mining geologists ค้นหาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ วิเคราะห์และศึกษาแง่ของศักยภาพและความปลอดภัยในการทำเหมือง
  • Paleontologists ศึกษาซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับ การกำหนดอายุทางธรณีวิทยา การสำรวจปิโตรเลียม วิวัฒนาการของสภาพแวดล้อมในอดีต
  • Petroleum geologists ศึกษาข้อมูลธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ ธรณีเคมี เพื่อหาแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และให้ข้อมูลกับวิศวกรปิโตรเลียมในกระบวนการสำรวจและผลิต
  • Planetary geologists ศึกษาพฤติกรรมและวิวัฒนาการของโลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในจักรวาล
  • Sedimentologists ศึกษากระบวนการเกิดหินตะกอน คุณสมบัติทางการภาพและเคมีของหิน เพื่อนำไปประยุกต์กับการหาแหล่งถ่านหิน ปิโตรเลียม และทรัพยากรแร่
  • Stratigraphers ศึกษาการระบบของชั้นหินตะกอน วิเคราะห์ซากดึกดำบรรพ์ เปรียบเทียบกับข้อมูลจากพื้นที่อื่น ในระหว่างการหาทรัพยากรธรรมชาติ
  • Structural geologists ศึกษารูปร่างและการเปลี่ยนรูปของหิน ในพื้นที่ศักยภาพต่อการสะสมตัวของแหล่งแร่ และปิโตรเลียม
  • Surficial geologists ศึกษาตะกอน และชั้นหินบริเวณผิวโลก เพื่อเป็นข้อมูลต่อการก่อสร้าง การสำรวจแหล่งแร่ แหล่งปนเปื้อน การจัดการพื้นที่และการวางระบบผังเมือง
  • Volcanologists ศึกษาภูเขาไฟที่ยังปะทุและดับแล้ว ศึกษากระบวนการเกิดทั้งทางเคมี และกายภาพ เพื่อประเมินการเสี่ยงภัยในอนาคต
  • Wellsite geologists ทำงานใกล้ชิดกับทีมงานขุดเจาะในพื้นที่สำรวจ เพื่อให้มั่นใจว่าหลุมเจาะนั้นอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ และทำการเก็บตัวอย่างจากหลุมเจาะมาวิเคราะห์

ภาวะความต้องการบัณฑิต

ในปัจจุบัน ภาวะความต้องการบัณฑิตด้านธรณีวิทยามีแนวโน้มสูงขึ้นมาก สืบเนื่องจากอุตสาหกรรมด้านเหมืองแร่และปิโตรเลียม เติบโตขึ้นอย่างสูง ซึ่งถึงแม้ในสมัยเมื่อ 10-20 ปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ทั้งและเศรษฐกิจและแร่รัตนชาติ นั้นไม่ได้รับความสนใจ เนื่องจากทรัพยากรธรณีเหล่านี้เริ่มหมดไปจากประเทศไทย

แต่เนื่องจากแนวโน้มบริษัทเติบโตและเน้นไปในทางสำรวจและผลิตโดยอาศัย สัมปทานจากนอกประเทศ ส่งผลให้ภาวะความต้องการบัณฑิตด้านธรณีวิทยาในปัจจุบันกลับมาสูงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และพิบัติภัยธรรมชาติ เพิ่มสูงขึ้นทำให้ความต้องการบัณฑิตหรือบุคคลากรในด้านนี้สูงขึ้นตามไปด้วย


ความต้องการของตลาดแรงงาน สังคม และ/หรือความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต

ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นตลาดแรงงานด้านธรณีวิทยาในปัจจุบันมีความต้องการสูงมากทั้งในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ หรืออุตสาหกรรมปิโตรเลียม หรือแม้แต่งานด้านธรณีวิทยาด้านอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากสายงานด้านธรณีนั้นเป็นสายงานเฉพาะ ที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และประสบการณ์ตรงควบคู่ไปด้วย จึงทำให้ปริมาณบัณฑิตในแต่ละปีมีจำนวนไม่เพียงพอต่อตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ตามภาควิชามีนโยบายผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและตอบสนองให้ผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอจากที่สุด โดยอาศัยช่องทางการฝึกงานของนิสิตในประดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 ภาควิชามีการติดตามผลและประเมินนิสิตในแต่ละกรณีเพื่อหาแนวทางปรับปรุง โดยอาศัยการติดต่อสื่อสารกับนิสิตเก่า ที่กระจายอยู่ตามองค์กรต่างๆ รวมทั้งเป็นสื่อกลางในการอธิบายหรือแนะนำให้ นิสิตและผู้ฝึกงานเข้าใจและทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิผลมากที่สุด

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อความสัมพันธ์หรือการสมัครงานเมื่อนิสิตจบการศึกษาต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่านิสิตภาควิชาธรณีวิทยาส่วนใหญ่หลังจากการฝึกงานในชั้นปีที่ 3 ยังสานต่อโดยทำโครงงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการฝึกงาน และในบางครั้งเมื่อจบการศึกษานิสิตสามารถเข้าทำงานในแต่ละองค์กรได้ทันทีจากความสัมพันธ์และการทำงานที่เกี่ยวเนื่องกันต่อมา และใช้เวลาน้อยในการเรียนรู้สายงานนั้นๆ ในการทำงานให้มีประสิทธิผล