ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย

รอยเลื่อน คือรอยแตกในหินที่แสดงการเลื่อน สามารถพบได้ทุกภูมิภาคในประเทศไทย ขนาดของรอยเลื่อนมีตั้งแต่ระดับเซนติเมตรไปจนถึงหลายร้อยกิโลเมตร

รอยเลื่อนขนาดใหญ่สามารถสังเกตได้ง่ายจากลักษณะภูมิประเทศ อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ รอยเลื่อนอาจถูกฝังอยู่ใต้ดิน ทำให้ไม่สามารถสังเกตได้จากบนพื้นผิวดิน ต้องอาศัยการสำรวจทางธรณีฟิสิกส์ช่วยในการหาตำแหน่งรอยเลื่อน

  • รอยเลื่อน จัดแบ่งตามลักษณะการเลื่อนได้เป็น รอยเลื่อนปกติ รอยเลื่อนย้อน และรอยเลื่อนตามแนวระนาบ
  • รอยเลื่อนที่พบหลักฐานว่าเคยเกิดการเลื่อนหรือขยับตัวมาแล้วในช่วง 10,000 ปี จะจัดว่าเป็น รอยเลื่อนมีพลัง (Active fault) ซึ่งมักจะพบอยู่ในพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย หรือตามแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลก รอยเลื่อนมีพลังมีโอกาสที่จะขยับตัวและก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้อีกในอนาคต
  • รอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย พบมากในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ของประเทศไทย แบ่งได้เป็น 14 กลุ่ม ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนพะเยา รอยเลื่อนแม่ทา รอยเลื่อนปัว รอยเลื่อนเมย รอยเลื่อนเถิน รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย (ข้อมูล กรมทรัพยากรธรณี 2555)
  • การศึกษารอยเลื่อนมีพลังนั้นมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพธรณีวิทยาของพื้นที่ และจุดประสงค์ของการสำรวจ นอกจากการแปลความหมายจากลักษณะภูมิประเทศแล้ว การสำรวจทางธรณีฟิสิกส์สามารถช่วยในการหาตำแหน่งของรอยเลื่อนใต้ดินได้ เช่น การสำรวจความต้านทานศักย์ไฟฟ้า การสำรวจความผิดปกติสนามแม่เหล็กโลก หรือ การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน เป็นต้น
  • สำหรับพื้นที่ตามแนวรอยเลื่อนมีพลังที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ก็จะมีการขุดร่องสำรวจใต้ชั้นดิน เพื่อดูว่าในอดีตมีการเลื่อนไปแล้วกี่ครั้งมากน้อยแค่ไหน ในระหว่างขุดก็จะมีการเก็บเศษซากพืชซากสัตว์ในชั้นดินไปตรวจหาอายุ เพื่อคำนวณหาช่วงเวลาที่รอยเลื่อนเคยขยับตัว ก่อนที่จะนำมาใช้ประเมินการขยับตัวครั้งต่อไปในอนาคต และจัดทำเป็นแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวในประเทศไทย
แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวประเทศไทย ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี (2556) จัดทำโดย วิชาการธรณีไทย GeoThai.net

แผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวประเทศไทย ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี (2556) จัดทำโดย วิชาการธรณีไทย GeoThai.net