นิสิตธรณีฯ จุฬา ชนะเลิศการแข่งขันตอบปัญหาธรณีวิทยาระดับนานาชาติ
ทีมนิสิตจากภาควิชาธรณีวิทยาชนะการแข่งขันตอบปัญหาธรณีวิทยา ในงาน Asia Geoscience Student Conference & Exhibition (AGSCE) ที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการประชุมวิชาการให้กับนักเรียนธรณีศาสตร์ ในกลุ่มประเทศเขตภูมิภาคเอเชีย อันประกอบด้วย ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29 – 30 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ Universiti Teknologi Petronas รัฐเปรักประเทศมาเลเซีย
โดยชมรมธรณีสัมพันธ์ได้มีส่วนร่วมในการเป็น Supporting Student Organisation ในงานครั้งนี้ และมีตัวแทนนิสิตเข้าร่วมการแข่งขัน Geoquiz Competition และ Outcrop Exhibition Competition ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- การแข่งขันตอบปัญหาด้านธรณีวิทยา (Geoquiz Competition) ที่ครอบคลุมตั้งแต่ ธรณีฟิสิกส์ ธรณีเคมี แร่วิทยา ธรณีวิทยาโครงสร้าง ตะกอนวิทยา ธรณีวิทยาปิโตรเลียม และความรู้ทั่วไปประกอบด้วยผู้เข้าแข่งขันกว่า 28 ทีม ทีมละ 3 คน จากประเทศผู้เข้าร่วม โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 5 รอบการแข่งขัน ในแต่ละรอบจะมีกฏและกติกาที่แตกต่างกันไป ซึ่งการแข่งขันตอบปัญหาในครั้งนี้ นิสิตจากภาควิชาฯ ส่งเข้าแข่งขัน 2 ทีม
ทีม A ได้รับรางวัลชนะเลิศ (champion prize) ประกอบด้วย นายธรรมปพน สรรพอุดม นายผดุงผล จิโนการ และ นางสาวศรีอมรา มีพริ้ง นิสิตชั้นปี 3
ทีม B ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง (2nd runner up prize) ประกอบด้วย นายพิชญ โหตรภวานนท์ และนายพงษ์ภัทร์ ชิ้นอร่ามรุ่งเรือง นิสิตชั้นปี 4 และนายอนุภัทร วิจิตรบรรจงดี นิสิตชั้นปี 2
- การแข่งขันจัดแสดงหินโผล่ (Outcrop Exhibition Competition) มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 18 ทีม การแข่งขันครั้งนี้แต่ละทีมจะต้องเตรียมแบบจำลองหินโผล่บริเวณพื้นที่ศึกษาใดก็ได้มาจัดแสดง พร้อมทั้งข้อมูลงานวิจัย ตัวอย่างหิน ผลการวิเคราะห์จากห้องทดลอง และข้อมูลอื่นๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาหินโผล่ โดยจะต้องนำเสนอในเวลา 10 นาที และอีก 5 นาทีสำหรับการตอบคำถาม ซึ่งการแข่งขันจัดแสดงหินโผล่ในครั้งนี้ ตัวแทนนิสิตภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งเข้าแข่งขัน 1 ทีม ประกอบด้วย นายพิชญ โหตรภวานนท์ นิสิตชั้นปี 4 นายวศิน มีสวย นางสาวกรรณิกา หวังฤทธิไกรกุล นายณัฐวุฒิ ทรัพย์ไพบูลย์ และนายธรรมปพน สรรพอุดม นิสิตชั้นปี 3
หินโผล่ ที่นำมาจัดแสดง คือ เขาใหญ่ ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนใน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี โดยมีนำเสนอทั้งแบบจำลองกายภาพย่อส่วน แบบจำลองหินโผล่ดิจิทัลสามมิติ และการใช้เทคโนโลยี AR ผลการแข่งขันได้รับ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง (2nd runner up prize)
นิสิตตัวแทนและภาควิชาธรณีวิทยาขอขอบคุณ มูลนิธิอาจารย์ไสว สุนทโรวาส สำหรับทุนสนับสนุนในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ และ อ.ดร.สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล ที่อนุเคราะห์แบบจำลองหินโผล่ดิจิทัลสามมิติ
หินโผล่จำลองที่ได้รับรางวัลนี้ จะถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธพัณฑ์ธรณีวิทยา ภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถรับชมได้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. เป็นต้นไป