นิสิตธรณีฯ จุฬา ร่วมคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Group Project Competition ในงาน IPTC2016
นิสิตธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน Group Project Competition ในงาน 10th IPTC ณ ประเทศไทย
งาน 2016 International Petroleum Technology Conference : IPTC เป็นงานประชุมวิชาการและเทคโนโลยีด้านน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติระดับโลก ที่เกิดจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำด้านพลังงานปิโตรเลียม (AAPG, EAGE, SEG และ SPE) ปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยมี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นแกนหลักในการจัดงาน ในวันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเซนทาราแกรนด์ กรุงเทพมหานคร
ภายในงานจะมีนิทรรศการจากบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันชื่อจากทั่วโลก การนำเสนอด้านวิชาการทั้งธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียมและการขุดเจาะ หรือการถาม-ตอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Education Week ในวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งได้คัดเลือกนิสิต-นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษา และสนใจด้านการสำรวจ และผลิตปิโตรเลียมจากทั่วโลกเข้ามาให้หัวข้อในการแก้ปัญหา และเสนอนวัตกรรม พร้อมกับให้ความรู้ พัฒนาทักษะการทำงาน และแข่งขันกันเป็นกลุ่ม ผ่านผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายองค์กรเข้ามาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เช่น PTTEP, Schlumberger, Halliburton, Shell, ExxonMobil, Hess E&P และ Mubadala Petroleum เป็นต้น
ในการแข่งขันนี้มีนิสิตธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 คนได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วม ได้แก่ นายกษิดิศ หล่อศุภสิริรัตน์ และนางสาวจุฑามาศ เจริญสุข
โดยนายกษิดิศ หล่อศุภสิริรัตน์ และเพื่อนร่วมทีมอีก 5 คนจากประเทศออสเตรเลีย บังคลาเทศ มาเลเซีย โปแลนด์ และปากีสถาน ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการนำเสนอนวัตกรรมในหัวข้อ การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในสภาวะความดัน และอุณหภูมิสูง (High Pressure/High Temperature Exploration and Drilling) มีเนื้อหาในการทำนายความดันของชั้นหิน ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการสร้างแบบจำลองผ่านข้อมูลธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ รวมทั้งการนำเสนอของไหลสำหรับการเจาะ (drilling fluid) ที่มีประสิทธิภาพที่ดีในสภาวะความดัน และความร้อนสูง และแนวคิดการซ่อมผนังซีเมนต์ที่มีช่องว่าง (cementing channel) เพื่อลดปัญหาจากความผิดพลาดในการหล่อซีเมนต์ในหลุมเจาะอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดจะทำให้การวางแผนขุดเจาะ และระหว่างการขุดเจาะ มีความแม่นยำ สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น และช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการผิดพลาดได้อีกด้วย