ข้อแนะนำสำหรับการนำเสนอผลงานทางวิชาการ

การนำเสนอผลงานทางวิชาการเป็นการสรุปให้ผู้ฟังได้รับทราบถึงความสำคัญของผลงานที่ผู้นำเสนอได้ศึกษามา ผู้นำเสนอจะต้องถ่ายทอดสาระสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องออกมาสู่ผู้ฟังในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย โดยใช้สื่อประกอบอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ เนื้อหาต่อไปนี้คือ ข้อแนะนำสำหรับการนำเสนอผลงานทางวิชาการ เหมาะสำหรับนิสิตและบัณฑิตในสาขาธรณีวิทยาและโลกศาสตร์

 

สิ่งควรรู้ก่อนนำเสนอผลงาน

ผู้นำเสนอจะต้องทราบก่อนว่าจะต้องไปนำเสนอในงานประเภทใด เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ หรือเป็นงานประชุมสัมมนาเฉพาะกลุ่มในมหาวิทยาลัย จุดประสงค์หรือเป้าหมายของงานคืออะไร เพื่อที่จะคาดเดาระดับความรู้และความเชี่ยวชาญของกลุ่มผู้ฟัง หากผู้ฟังมีความหลากหลาย ผู้นำเสนอจะต้องปรับเนื้อหาและวิธีการบรรยายให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะศัพท์เฉพาะที่ต้องอธิบายให้ผู้ฟังทราบอย่างชัดเจน

สอบถามเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการบรรยาย ระยะเวลาของการนำเสนอ ชนิดของโปรแกรมที่ใช้นำเสนอ ในกรณีที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัว ให้ตรวจสอบเวอร์ชันของ PowerPoint หรือ Keynote ที่ผู้จัดงานเตรียมไว้ให้

ตรวจสอบสถานที่นำเสนอ ขนาดของหน้าจอ จำนวนผู้ชมโดยประมาณ และอื่นๆ เช่น การลงทะเบียนเข้าร่วมงาน กำหนดการส่งบทคัดย่อ ข้อมูลการเดินทางและที่พัก การขอวีซ่า เป็นต้น

 

คำถามสำคัญก่อนเริ่มทำสื่อ

  • ทำไมต้องนำเสนอผลงานนี้? ผลงานนี้ดีอย่างไร มีประโยชน์ต่อผู้ที่จะนำไปศึกษาต่ออย่างไร
  • อะไรคือสาระสำคัญที่ผู้ฟังจะได้รับจากการนำเสนอครั้งนี้? ได้ความรู้ใหม่ หรือช่วยเพิ่มแนวคิดอะไรกับผลงานของผู้อื่น
  • จุดประสงค์ของการนำเสนอคืออะไร? ต้องการให้ผู้ฟังเห็นอะไรบ้าง สิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น
  • ผู้นำเสนอมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่จะนำเสนอดีมากน้อยแค่ไหน? ความรู้พื้นฐาน ความเชื่อมโยงกับธรณีวิทยาระดับภูมิภาค การประยุกต์ใช้ในอนาคต

การเตรียมสื่อประกอบการบรรยาย*

– ภาพประกอบ

ก่อนที่จะใส่ภาพใดๆ ลงไปในสื่อ ลองตรวจเช็คดูว่าภาพนั้นมีความละเอียด หรือมีขนาดใหญ่เพียงพอหรือไม่ กล่าวคือต้องมีความคมชัดและไม่แตกหรือเบลอเมื่อนำขึ้นแสดงบนจอภาพ ปัญหาที่พบบ่อยคือการคัดลอกภาพจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งส่วนใหญ่มีความละเอียดต่ำ เมื่อฉายขึ้นจอภาพเส้นจะแตกจนดูไม่น่าสนใจ

การคัดลอกภาพจากอินเตอร์เน็ต หรือจากผลงานตีพิมพ์ควรมีการอ้างอิงเจ้าของผลงานทุกครั้ง โดยผู้นำเสนอสามารถทำการวาดใหม่และปรับแต่งให้แตกต่างจากต้นฉบับได้ แต่ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของต้นฉบับด้วย เช่น การภาพแผนที่ ภาพลำดับชั้นหิน ภาพแนวคิด เป็นต้น

 

– สี

โดยทั่วไปการนำเสนอในห้องประชุมจะเป็นการฉายภาพไปยังจอรับภาพแล้วสะท้อนกลับมายังผู้ชม ซึ่งสายตามนุษย์จะตอบสนองต่อแสงสว่างได้ดี ดังนั้นควรให้สิ่งที่จะเน้นในสไลด์ เช่น แผนที่ รูปภาพ เส้นกราฟ หรือตัวหนังสือ มีความโดดเด่นมากกว่าสีของพื้นหลัง

สีพื้นหลังที่สว่างจ้ามากเกินไปจะทำให้เกิดแสงสะท้อนมากรบกวนสายตาและลดความโดดเด่นของรายละเอียดหลักได้ โดยเฉพาะการนำเสนอในห้องบรรยายที่มีแสงน้อย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงสีพื้นหลังและสีตัวหนังสือที่มีความใกล้เคียงกัน ตัวหนังสือสีเหลืองมักไม่ค่อยโดดเด่น สีที่ใช้แสดงชนิดหินยุคต่างๆ ควรสามารถแยกออกจากกันได้ง่าย และให้ใช้สีเดียวกันตลอดการนำเสนอ

 

– ตัวหนังสือ

โดยทั่วไปคนผู้ฟังจะอ่านมากกว่าฟัง ดังนั้นตัวหนังสือจึงมีความสำคัญ ในการนำเสนอควรใช้แบบอักษรเดียวกันทั้งหมดตลอดการนำเสนอหรือมากไม่เกินสองแบบ เพื่อให้อ่านได้อย่างสบายตา แบบอักษรควรเป็นแบบทางการที่ผู้ชมทุกคนคุ้นเคย ตัวหนังสือทุกตัวควรมีขนาดใหญ่พอที่สามารถอ่านได้จากที่นั่งหลังห้อง

ในหลายๆ กรณีมักพบการวางตัวหนังสือทับเส้นในแผนที่หรือรูปภาพ ซึ่งจะทำให้ภาพดูรกและอ่านยากมาก หากจำเป็นปัญหานี้หลีกเลี่ยงได้โดยการเพิ่มสีพื้นหลังให้ตัวหนังสือ หรือใส่เงา สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการวางตัวหนังสือในแนบราบ หรือเอียงเล็กน้อย ไม่ควรวางตัวหนังสือในแนวตั้ง โดยเฉพาะคำอธิบายแกนตั้งในกราฟหรือในแผนที่ ยกเว้นจำเป็นจริงๆ อย่างเช่นชื่อยุคในตารางธรณีกาล

 

– องค์ประกอบ

ภาพและตัวหนังสือควรถูกจัดวางอย่างลงตัวตามความสำคัญ สิ่งที่เน้นควรจะเป็นสิ่งแรกที่ลืมตามาเห็นสไลด์นี้ ควรใช้พื้นที่บนสไลด์ให้เต็มที่ด้วยการขยายภาพให้ใหญ่ที่สุด ภาพหรือแผนที่ที่ดีควรมีการบอกชื่อ ตำแหน่ง ทิศทาง มาตราส่วน และแหล่งอ้างอิง (ถ้ามี) ให้สังเกตขนาดของลูกศรทิศเหนือและแถบมาตราส่วนใต้แผนที่ว่าดูใหญ่เกินไปหรือไม่ โดยปกติทิศเหนือควรอยู่ด้านบนและมาตราส่วนอยู่ด้านล่าง มาตราส่วนควรเป็นเลขที่ลงตัว เช่น 500 เมตร 1 กิโลเมตร 10 กิโลเมตร

คนส่วนใหญ่ถนัดในการอ่านจากซ้ายไปขวา ดังนั้นควรจัดวางข้อความบรรยายทางด้านขวาของภาพประกอบที่เป็นแนวตั้ง เช่น ในสไลด์ที่แสดงการลำดับชั้นหิน หรือ ตารางธรณีกาล ภาพแผนที่ธรณีวิทยาควรมีคำอธิบายสัญลักษณ์ประกอบด้วยทุกครั้ง

 

– การจัดลำดับ

การนำเสนอเปรียบเสมือนการเล่าเรื่องอย่างมีจุดประสงค์ ควรวางลำดับขั้นตอนการนำเสนอให้ต่อเนื่อง ไม่ข้ามไปข้ามมา ในระหว่างการนำเสนอหากอ้างถึงสิ่งใด สไลด์ถัดมาควรจะเป็นสิ่งนั้น เช่น แสดงตำแหน่งภาคตัดขวางในแผนที่ก่อนแสดงภาคตัดขวางในสไลด์ถัดมา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังโยงความคิดระหว่างสไลด์ได้และไม่หลงทาง

การทำแอนิเมชันก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยในการเล่าเรื่อง แต่อย่าให้มีเยอะจนเกินไป อย่างไรก็ตามการลำดับขั้นตอนเนื้อหานั้นแตกต่างกันไปตามรูปแบบของลักษณะของผลงานและความเหมาะสม ตัวอย่างเช่น – Title- Content Outline/Overview- Location map/Study area- Summary tectonic events/geological history- Problems/Objectives- Data used- Results of field survey/data analysis- Discussion- Conclusion- Acknowledgement

 

– ปริมาณเนื้อหา

ในสไลด์หนึ่งๆ ไม่ควรมีตัวหนังสือหรือรูปภาพมากเกินไป อาจใช้สัญลักษณ์ช่วยแยกเป็นห้วข้อย่อยๆ แต่ไม่ควรมีเกิน 5 หัวข้อในหนึ่งสไลด์ ควรตรวจสอบเวลาในการนำเสนอและจำนวนสไลด์ โดยที่มีเวลาให้ผู้ฟังได้เห็นสไลด์อย่างเหมาะสม ในการนำเสนอแต่ละครั้ง ผู้ฟังจะฟังเพียงบางส่วนของเวลาที่นำเสนอ ดังนั้นในสไลด์ที่มีภาพประกอบควรพยายามทำให้ภาพนั้นช่วยบอกเรื่องราวในตัวมันเอง

กล่าวคือผู้ฟังต้องสามารถเข้าใจสิ่งที่อยู่บนสไลด์ได้ แม้จะไม่ฟังสิ่งที่ผู้นำเสนอพูด ซึ่งภาพที่แสดงในสไลด์ต้องกระชับและครบถ้วน อย่าลืมว่าภาพแผนที่ต้องมีทิศทาง มาตราส่วน และคำอธิบาย คุณภาพของภาพประกอบและข้อความที่กระชับจะช่วยให้ผู้ฟังมีสมาธิตลอดการนำเสนอ

 

– การอ้างอิงรูปภาพหรือบทความของผู้อื่น

ในกรณีที่มีการนำรูปภาพ บทความ หรือแม้กระทั่งบทสนทนาของผู้อื่นมาใช้อ้างอิงในการนำเสนองานจะต้องมีการใส่ชื่อเจ้าของผลงานและที่มาไว้ใกล้ๆกับบริเวณรูปภาพหรือบทความนั้นๆทุกครั้ง เช่น  Wenk et al. (2014) Geophysics หากเป็นรูปภาพที่นำมาจากเว็บไซต์ก็ต้องมี  URL ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังรูปภาพนั้นได้ นอกจากนี้การจัดขนาดตัวอักษรและรูปแบบการอ้างอิงควรทำให้เหมือนกันทุกหน้าสไลด์


ระหว่างการนำเสนอ

พูดด้วยน้ำเสียงที่ชัดเจน ไม่ควรพูดเร็วหรือช้าจนเกินไป และควรทำการซักซ้อมการนำเสนอก่อนการนำเสนอจริง พยายามสบตาผู้ฟังตลอดการนำเสนอ ถ้ามี Laser Pointer ให้ใช้เท่าที่จำเป็นและไม่ควรให้จุดเลเซอร์เคลื่อนที่ไปมามากเกินไปนอกจุดที่กำลังสนใจ

พยายามอธิบายสไลด์ให้ชัดเจนก่อนว่า สไลด์นี้คืออะไร เป็นภาพอะไร ขนาดในภาพเท่าไหร่ ทิศทางเป็นอย่างไร ให้ดูเพื่ออะไร ก่อนที่จะพูดลงรายละเอียดต่อไป

 

ช่วงตอบคำถาม

พยายามฟังคำถามให้จบก่อนตอบคำถาม คิดสักครู่แล้วจึงตอบคำถามด้วยคำตอบที่กระชับและตรงประเด็น หากไม่เข้่าใจคำถามควรถามผู้ถามให้แน่ใจ ในบางกรณีสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ถามได้ในกรณีที่ไม่ทราบคำตอบ

 

หลังการนำเสนอ

กล่าวขอบคุณผู้ฟังทุกท่าน พร้อมทั้งจดคำถามและ Feedback ที่ได้จากผู้ฟังเพื่อนำไปพัฒนาการนำเสนอในครั้งต่อไป


ข้อมูลเพิ่มเติม


 *เนื้อหาส่วนนี้ดัดแปลงจากบทความใน GeoThai.net